วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

องค์ประกอบของการอ่าน


มีนักการศึกษาได้กล่าวถึงองค์ประกอบของการอ่านไว้ดังนี้
                  บุญรวม งามคณะ (2555) ได้สรุปองค์ประกอบของการอ่าน ไว้ว่า องค์ประกอบของการอ่าน
เกี่ยวข้องกับวัยและความสามารถของผู้อ่าน สิ่งแวดล้อม อารมณ์ แรงจูงใจ บุคลิกภาพ ความหมายของสาร การเลือกความหมาย และการนำไปใช้ รวมไปถึงสารที่นำมาใช้อ่าน กระบวนการในการอ่าน โดยผู้อ่านควรมีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย สมอง อารมณ์ และสังคม มีความสามารถในการอ่านเหมาะกับระดับของสารที่นำมาใช้เป็นสื่อและได้รับการฝึกฝนให้อ่านตามลำดับขั้นของกระบวนการอ่านจึงจะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการอ่าน และสิ่งที่จะช่วยให้การอ่านมีประสิทธิภาพนั้นต้องอาศัยความรู้ทางภาษา และความรู้ในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะประสบการณ์เดิมของนักเรียน และความรู้รอบตัวด้านต่างๆ ตลอดจนความเชื่อ ถ้าผู้รับสาร และผู้ส่งสารมีความเข้าใจตรงกัน ผู้รับสารก็จะยิ่งเข้าใจความหมายได้ง่ายยิ่งขึ้น
                   สุนันทา  มั่นเศรษฐวิทย์(2540) กล่าวถึงองค์ประกอบของการอ่านที่สำคัญมี 3 ประการ ซึ่งสรุปได้คือ
                   ประการแรก คือ สารที่ใช้อ่านควรมีความยากง่ายเหมาะสมกับวัยและความสามารถในการอ่านของผู้อ่านในระดับชั้นเรียนนั้นๆ นอกจากนั้นเรื่องราวของสารที่ใช้อ่านควรมีเนื้อหาตรงกับความสนใจของนักเรียนด้วย
                   ประการที่สอง ครูควรคำนึงถึงความพร้อมในการอ่านของผู้อ่านทั้งในด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และประสบการณ์ทางภาษาที่ได้รับจากทางบ้านและทางโรงเรียนทั้งด้านการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน และการเห็นด้วยตา
                   ประการสุดท้าย กระบวนการในการอ่านซึ่งเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการอ่านเริ่มตั้งแต่ท่าทางในการอ่าน การจัดหนังสือ การวางระยะห่างระหว่างตัวอักษร การเคลื่อนตา การกวาดสายตา โดยสมองจะทำหน้าที่รับรู้ และแปลสัญลักษณ์ของตัวอักษร ถ้าเป็นการอ่านในใจจะใช้กระบวนการ “See and Think” กล่าวคือ เมื่อสายตารับรู้สัญลักษณ์ที่เป็นอักษรก็จะส่งไปให้สมองคิดเพื่อแปลความ ถ้าเป็นการอ่านออกเสียงจะใช้กระบวนการ “See , Say  and Think” เมื่อสายตารับรู้ตัวอักษรก็จะเปล่งเสียงและให้สมองแปลความ คำ และข้อความที่อ่านนั้นอีกครั้งหนึ่ง ในการอ่านออกเสียงยังต้องคำนึงถึงน้ำเสียงที่เปล่งออกมา การเว้นวรรคตอนและความถูกต้องในการออกเสียงด้วย
สรุปได้ว่า องค์ประกอบของการอ่านที่ต้องคำนึงถึงคือ
         1.  ระดับสติปัญญา  เด็กมีสติปัญญาไม่เท่าเทียมกัน  ย่อมมีผลอย่างยิ่งต่อการอ่าน จึงไม่ควรเน้นให้แต่ละบุคคลอ่านได้เท่ากันในเวลาเดียวกัน
          2.  วุฒิภาวะและความพร้อม  การอ่านต้องอาศัยทักษะต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบย่อย ๆ เช่น ทักษะการใช้สายตา การใช้อวัยวะเกี่ยวกับการออกเสียง ดังนั้นการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายของเด็ก      จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการเริ่มต้นการสอนอ่าน
          3.  แรงจูงใจ  แรงจูงใจมีทั้งภายนอกและภายใน   ภายนอกได้แก่ พ่อ แม่ ครู ฯลฯ ภายในได้แก่การค้นพบด้วยตนเองว่าชอบหรือไม่อย่างไร
          4.  สภาพร่างกาย สภาพร่างกายที่สมบูรณ์จะช่วยให้สุขภาพจิตดี ร่าเริง แจ่มใส มีความกระตือรือร้นมากกว่าร่างกายที่อ่อนแอ  และเจ็บป่วย
          5.  สภาพอารมณ์  อารมณ์ที่มั่นคงสม่ำเสมอ แจ่มใส ไม่มีแรงกดดันจากความคาดหวังของครูหรือผู้ปกครองจะทำให้เด็กอ่านได้ดี
 ที่มา : บุญรวม  งามคณะ.(2555). การพัฒนาการอ่านสรุปความโดยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์นิทาน สำหรับ
                     นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2. “วิทยานิพนธ์ครุศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและ
                     การสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์.
         สุนันทา  มั่นเศรษฐวิทย์.(2540). การเขียนเพื่อการสื่อสาร.กรุงเทพฯ: พัฒนาการศึกษา

วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ภาษาอังกฤษกับการอ่านสัมพันธ์กันอย่างไร

              หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้กำหนดไว้ว่านักเรียนที่จบการศึกษาในระดับประถมศึกษาปีที่ 6  จะต้องสามารถปฏิบัติตามคำสั่ง คำขอร้องคำแนะนำที่ฟังและอ่าน อ่านออกเสียงประโยค ข้อความ นิทานและบทกลอนสั้นๆ ถูกต้องตามหลักการอ่านเลือกหรือระบุประโยคและข้อความตรงตามความหมายของสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่อ่าน บอกใจความสำคัญและตอบคำถามจากการฟังและอ่าน บทสนทนา นิทานง่ายๆ และเรื่องเล่าได้
             การอ่านเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ   ซึ่งถือเป็นภาษา ต่างประเทศที่เป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่ก่อให้เกิดแนวทางการเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ การเมือง การค้าและเศรษฐกิจ ซึ่งภาษาอังกฤษได้ปรากฏในสื่อต่าง ๆ ของชีวิตประจำวันของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์   ป้ายชื่อถนน ป้ายโฆษณา แบบฟอร์มราชการ สลากยา การ์ตูน เป็นต้น  คนที่สามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ดีกว่าย่อมสืบค้น และพัฒนาทุกด้านได้มากกว่านั้นหมายความว่า การศึกษาหาความรู้ เพื่อประกอบอาชีพในอนาคตย่อมมีแนวโน้มที่ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มต้นพัฒนาทักษะ การอ่านภาษาอังกฤษตั้งแต่วัยเยาว์ จึงถือได้ว่าวิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาที่ต้องพัฒนาทักษะการอ่านควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิตประจำวัน จึงจะทำให้การเรียนรู้และการดำเนินชีวิตประสบผลสำเร็จสูงสุด(บัณฑิต  ฉัตรวิโรจน์,2549)                                                       
             การอ่าน เป็นทักษะทางภาษาที่มนุษย์ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการศึกษาหาความรู้และ ความบันเทิงใจให้กับตนเอง  การอ่านจึงเป็นประโยชน์ให้แก่มนุษย์โดยตรงในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะนักเรียนระดับประถมศึกษาต้องมีทักษะที่จำเป็นต้องใช้การอ่าน เพื่อศึกษาหาความรู้จากหนังสือและจากตำรา ผู้ที่มีความสามารถในการอ่านออกเขียนได้จึงได้เปรียบและสามารถติดต่อสื่อสารทั้งเรื่องส่วนตัวและส่วนรวมได้ผลดีกว่าผู้อื่นที่อ่านหนังสือไม่ออก และเขียนไม่ได้  การอ่านเป็นทักษะทางภาษาที่สำคัญ และจำเป็นมากในการดำรงชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน เพราะในชีวิตประจำวันจะต้องอาศัยการอ่านจึงจะสามารถเข้าใจ และสื่อความหมายกันได้ถูกต้อง   การอ่านเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการแสดงหาความรู้ ดังนั้นผู้ที่มีทักษะในการอ่านหรือมีความสามารถในการอ่าน คือสามารถอ่านได้มาก อ่านได้เร็ว อ่านได้ถูกต้อง และอ่านได้หลายภาษาจึงมีโอกาสประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพและด้านสังคม  ด้านการศึกษาหาความรู้  ตลอดจนด้านข่าวสารข้อมูลได้กว้างไกล และทันสมัยกว่าผู้อื่นที่ขาดทักษะในด้านการอ่าน
             สรุปได้ว่า ในปัจจุบันคนที่มีความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษย่อมมีโอกาสในการแสวงหาความรู้ได้มากกว่าคนที่ไม่สามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาหาความรู้  การประกอบอาชีพ  การดำรงชีวิตประจำวัน เป็นต้น 
ที่มา:บัณฑิต  ฉัตรวิโรจน์.(2549) การสอนอ่านภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษา.กรุงเทพมหานคร
       กรมวิชาการ. (2553). การจัดสาระการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศตาม
           หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่ง
            ประเทศไทย.


ประวัติส่วนตัว


 

  • ชื่อ  นางจินตนา    นามสกุล   ไชยฤกษ์
  • ตำแหน่งหน้าที่การงานปัจจุบัน  ครู  อันดับ คศ.  2  โรงเรียนบ้านทะเลสองห้อง
  • ประวัติการทำงาน   บรรจุราชการครั้งแรกตำแหน่งอาจารย์ 1 ระดับ 3 เมื่อ วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2546                โรงเรียนบ้านบูเก๊ะบือแต  อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส สปอ.จะแนะ สปจ.นราธิวาส วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2548      มาช่วยราชการ ตำแหน่ง ครู  อันดับ คศ. 1 โรงเรียนหมู่บ้านป่าไม้ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช   วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2549  ย้ายมาปฏิบัติราชการ ตำแหน่ง ครู อันดับ คศ.1โรงเรียนบ้านทะเลสองห้อง  อำเภอทุ่งใหญ่  จังหวัดนครศรีธรรมราช   
  • ประวัติการศึกษา  ระดับประถมศึกษา1-6 โรงเรียนบ้านน้ำบ่อ อำเภอเชียรใหญ่  จังหวัดนครศรีธรรมราช                                 ระดับมัธยมศึกษาปที่ที่ 1 - 6 โรงเรียนเชียรใหญ่  อำเภอเชียรใหญ่  จังหวัดนครศรีธรรมราช   ระดับปริญญาตรี    วิชาเอกภาษาอังกฤษ   คณะครุศาสตร์   สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช  
  • รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ รางวัลครูสอนดี  ของ สสค.
  • ที่อยู่ที่สามารถติดต่อที่เป็นทางการ   บ้านเลขที่  29  หมู่  5  ตำบลปริก  อำเภอทุ่งใหญ่   จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • เบอร์โทร(ที่ติดต่อได้)   089 - 8686260
  • eMail , nong_tale@hotmail.com , nongjintana 2522 @ gmail.com
  • Facebook, จินตนา  ไชยฤกษ์
  • Website, http://nongjintana2522.blogspot.com
  • Blog ,www.gotoknow.org/blog/nongtale